คิดได้ ทำเป็น
 

การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจ ทำให้องค์กรนั้น ๆ ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน บางองค์กรประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายได้ มีส่วนแบ่งการตลาดอย่างท่วมท้น ได้กำไรดี ผู้บริหารและพนักงานพบกับความสุข ยินดีปรีดา โลกใบนี้ช่างเป็นอะไร ๆ ที่ดูดีไปหมด บางองค์กรประสบความล้มเหลว ทำอะไร ๆ ก็ดูติดขัด ไม่ลื่นไหล ทุกคนในทีมรู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยว เสียขวัญหมดกำลังใจ เพราะผลประกอบการไม่เป็นไปตามความคาดหวัง

ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีความรู้ และประสบการณ์ ก็จะนำเอาผลประกอบการทั้งที่ดี หรือไม่ดีไปศึกษาทบทวน เจาะลึกแบบเข้าถึงแก่น ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้โดยการเชื่อมโยงสิ่งที่ทำหรือไม่ทำในอดีต ผลที่ได้หรือไม่ได้ในปัจจุบัน และเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต วิเคราะห์ทั้งเขา – คู่แข่ง และเรา ค้นหาสาเหตุของปัญหานั้น ๆ และคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน

Winner – ผู้มีชัย หรือผู้ชนะในสมรภูมิส่วนใหญ่ก็จะ “รู้เท่าทัน” ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือกำลังจะเปลี่ยนแปลง บุคคล หรือองค์กรเหล่านี้ นอกจากจะ “คิดขาด” แล้ว ยังเป็นคน “คิดข้ามช็อต” อีกด้วย ผู้ชนะส่วนใหญ่ จะมีภาวะผู้นำสูง คือรู้จัก “ลงมือทำ” เข้าข่าย “คิดได้ ทำเป็น” โดยสรุปก็คือ สามารถคิดสร้างสรรค์กลยุทธ์ที่จำเป็น แปลงยุทธศาสตร์ให้เป็นยุทธวิธี และ “ทำ” ให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม

บุคคล หรือองค์กรที่ไม่รู้จักสร้างดุลยภาพ ก็จะให้ความสำคัญกับการวางแผน ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการเหล่านั้นจะมีความสุขมากกับการที่ได้อภิปรายแบบเชือดเฉือนกันด้วยคารมและความคิดในห้องประชุม สนุกไปกับการได้มาซึ่งยุทธศาสตร์ โดยไม่ได้สนใจชั้นเชิงที่เป็นยุทธวิธีเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติ เข้าข่าย “ได้ยุทธศาสตร์ แต่ไร้ยุทธวิธี” หรือ “คิดได้ ทำไม่เป็น” อนาคตของบุคคล หรือองค์กรประเภทนี้ก็จะเป็นได้เพียงแค่ Challenger – ผู้ท้าชิง

ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการมากมายที่ไม่มีเวลา (แม้กระทั่งจะรับประทานอาหาร) วันหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า บ้างก็ยุ่งจริง ๆ ด้วยเหตุผลที่พอจะฟังขึ้น บ้างก็ยุ่งมากเพราะบริหารเวลาไม่เป็น หรือไม่ยอมที่จะแบ่งปันงาน กระจายอำนาจ สภาวะที่ยุ่ง ๆ แบบลุยไปข้างหน้าแต่เพียงอย่างเดียว จนไม่มีเวลาคิด หรือ “ไม่ได้คิด” ในบางโอกาสมีเวลาคิด แต่กลับ “คิดไม่ออก” เข้าข่าย “คิดไม่ได้ ทำเป็น” อนาคตของบุคคล หรือองค์กรประเภทนี้ก็จะเป็นได้เพียงแค่ Defender – ผู้ป้องกันตัว เท่านั้น

Loser – ผู้ปราชัย หรือผู้พ่ายแพ้ บุคคล หรือองค์กรที่ไม่รู้เท่าทัน หรือไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ และไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ อ้างว่าไม่มีเวลาคิดวิเคราะห์ อ้างว่าทำไปก็สู้คู่แข่งไม่ได้ อ้างไปได้ต่าง ๆ นานา ไม่มีความตั้งใจ แถมยังขี้เกียจแบบถึง (ตัวเลข) ก็ช่าง ไม่ถึง (ตัวเลข) ก็ช่าง ไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง เข้าข่าย “คิดไม่ได้ ทำไม่เป็น” แน่นอนว่าบุคคล หรือองค์กรประเภทนี้จะขับเคลื่อนไปภายใต้สภาวะที่กดดัน เหนื่อยไม่รู้จบ และสำเร็จได้ยาก

นั่งสงบใจนิ่ง ๆ สักพัก... ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองดูตัวเอง หรือนึกภาพพิจารณาไปที่องค์กรของท่าน... แล้วหาคำตอบให้กับตนเองว่า ส่วนตัวท่านเอง หรือองค์กรของท่านในขณะนี้อยู่ตรงส่วนไหนระหว่าง “คิดก็ได้ ทำก็เป็น” หรือ “คิดได้ แต่ทำไม่เป็น” หรือ “คิดไม่ได้ แต่ทำเป็น” หรือ “คิดก็ไม่ได้ ทำก็ไม่เป็น”

ที่ Bizz Backup เราถ่ายทอดแนวความคิดของเราออกมาให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ๆ แบ่งเป็นงานบริการ 3 เรื่องหลักที่เรามุ่งเน้น นั่นก็คือ

  1. ปรึกษาธุรกิจ (Management Consulting): เรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยลูกค้าของเราให้ “คิดได้” ด้วยการดึงศักยภาพที่อยู่ภายในให้ปรากฎ หรือได้รับการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ ช่วยพัฒนาธุรกิจตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายทางธุรกิจ ยุทธศาสตร์ในการก้าวเดิน สามารถคิดค้นรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่นำไป ปฏิบัติการเสริมความสำเร็จได้จริง ตลอดจนถึงการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างยอดขายให้สูงขึ้น และเสริมอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจ
  2. แนวทางแก้ปัญหาธุรกิจ (Commercial Advisory): เรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเรา “ทำเป็น” และทำได้อย่างต่อเนื่องจริงจัง เรามีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการงานขาย การออกแบบผังองค์กร การกำหนดอัตรากำลังคน การบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย ความสัมพันธ์ระหว่างระยะทาง เวลาเดินทาง กับการบริหารจัดการเขตขาย การเสริมแรงจูงใจด้วยอินเซ็นทีฟ หรือสวัสดิการอื่น ๆ บริหารจัดการลูกค้า ยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนงานขาย บริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานขาย กระบวนการขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ในการเจรจาต่อรอง และอื่น ๆ
  3. อบรมพัฒนา (Talent Development): เรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะยกระดับความรู้ เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร และ เสริมสร้างศักยภาพส่วนบุคคล โดยมุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ผ่านการอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) ฝึกการแก้ปัญหาด้วยกรณีศึกษา (Case Study) และฝึกทักษะด้วยการแสดงบทบาทสมมุติ (Role-play) เป็นการเสริมแรงกระตุ้น เร่งเร้าให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการส่งมอบผลงานชั้นเลิศ โดยผ่านจิตสำนึกของภาวะผู้นำ ทั้งนี้ก็เพื่อ ต่อยอด ให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

บริการหลักทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้รับการร้อยเรียงโดยมีเป้าประสงค์เดียว คือต้องการให้เป็น “ปฏิบัติการเสริมความสำเร็จ – Flawless Execution of Solutions โดยแท้จริง เพราะเราต้องการที่จะส่งมอบชิ้นงานที่จับต้องได้ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่ส่งมอบแต่เพียงความคิดหรือการนำเสนอผลงาน และลูกค้าของเราจะได้รับคุณประโยชน์ที่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

เราจะรู้สึกยินดีและเป็นสุขใจเมื่อได้รับรู้ว่า ผลประกอบการของลูกค้าของเราประสบความสำเร็จ เป็นไปตามความคาดหวัง ขายดีแบบเทน้ำเทท่า มีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น ได้กำไรเกินเป้าหมาย ผู้อุปโภคหรือผู้บริโภคพึงพอใจที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการที่ดีมีคุณภาพ พนักงานทุกระดับมีความสุข มีความเชื่อมั่น ผู้ถือหุ้นก็ยินดีที่จะลงทุนขยายกิจการเพิ่มเติม นำมาซึ่งความมั่งคั่งให้กับสังคมโดยรวม ถือเป็น “กำลังเสริม” สร้างคุณค่าอย่างสูงสุดตามเจตนารมย์ของเรา

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
26 ธันวาคม 2552

Email      Tweet This      Post to Facebook      Share on Linkdin      Print.